OLIVE TREE HOUSE
Written by: Ideas Magazine
15 January 2020
Views: 229
น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักพิธีกรมากความสามารถอย่าง คุณเอกกี้ - เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์ ที่สามารถสร้างแรงดึงดูดจากผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด นอกจากเรื่องความสามารถในวงการบันเทิงแล้ว เรื่องการแต่งตัวและรสนิยมทางด้านแฟชั่นก็ไม่เป็นรองใคร จนใครต่อใครสงสัยว่า แล้ว ‘บ้าน’ ของพิธีกรแถวหน้าคนนี้ล่ะจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่าคนที่มีสไตล์ชัดเจนและเนี้ยบในรายละเอียดอย่างคุณเอกกี้ย่อมไม่ธรรมดา และการที่จะออกแบบให้ทั้งงานสถาปัตยกรรมและสเปซภายในตอบโจทย์สไตล์และตัวตนของตนเองนั้นท้าทายอยู่ไม่น้อย คุณเอกกี้จึงไว้ใจให้น้องชายแท้ๆ อย่างคุณบอย - พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ สถาปนิกและเจ้าของบริษัทออกแบบ Anonym มารับหน้าที่รีโนเวทบ้านหลังเก่าที่ซื้อไว้นานกว่า 10 ปีให้ออกมาแสดงถึงตัวตนของพี่ชายให้มากที่สุดไปพร้อมกับฟังก์ชันที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน ซึ่งการออกแบบสเปซที่เหมาะกับเจ้าของบ้าน โดยเฉพาะเป็นการรีโนเวทนั้นจำเป็นที่สถาปนิกต้องทำการบ้านในด้านต่างๆ ของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี ซึ่งในฐานะที่เป็นทั้งน้องชายและสถาปนิก จึงทำให้สามารถตีความความเป็นตัวตนเพื่อให้เข้ากับบ้านที่กำลังจะออกแบบได้อย่างตรงประเด็นและสร้างสรรค์ เนื่องจากมองเห็นเอกลักษณ์ในตัวพี่ชายนั้นที่ต่างไปจากภาพจำที่ใครหลายคนเคยรับรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ต่างๆ นั่นเอง
บ้านอายุเก่ากว่า 10 ปี ถูกรีโนเวทจนไม่เหลือเค้าเดิม ทั้งการออกแบบฟาซาด งานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด เพื่อสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านอย่างคุณเอกกี้ในทุกๆ ตารางนิ้ว
ทุบกำแพงทึบแล้วเปลี่ยนมาเป็นกระจกเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน ทำให้ได้ห้องนั่งเล่นในบรรยากาศผ่อนคลายด้วยการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบโอเพ่นแปลน
“บอยรู้ว่าเราชอบอะไร หลายคนพอเห็นบ้านก็ตกใจว่า ทำไมบ้านเธอไม่แป้นแล้นหรือหลุยส์ไปเลย แต่บอยเขารู้ว่าเราเป็นคนอารมณ์ไหน เราชอบอะไรที่ดูเรียบเนี้ยบ แต่ต้องมีอะไรนิดหน่อย ตอนเริ่มทำบ้านหลังนี้ก็ปล่อยให้บอยและคุณศรีชนา แหนสระแก้ว ที่มาดูในส่วนการตกแต่งภายในช่วยคิดกันหมดเลย พอบ้านสร้างเสร็จเราก็ยิ่งกลายเป็นคนติดบ้านมากกว่าเดิม (หัวเราะ) จากแต่ก่อนอยู่คอนโดมิเนียม เราจะออกไปไหนมาไหนตลอด แต่ที่นี่เรารู้สึกว่ามันคือบ้านของเราจริงๆ” คุณเอกกี้เล่าถึงการออกแบบและการสร้างบ้าน
โถงทางเดินภายในบ้านคุมโทนด้วยสีดำ - ขาว แบ่งพื้นที่และเพิ่มลูกเล่นด้วยการปูกระเบื้องในแพตเทิร์นที่ต่างกัน
ในส่วนของขั้นตอนการออกแบบนั้นสถาปนิกตีความแนวความคิดในการออกแบบเป็น Metaphor เพราะมองว่าคุณเอกกี้มีคาแร็คเตอร์ 2 แบบ คือ มีความแข็งแรงและมีความอ่อนโยนในตัวเอง จึงถ่ายทอดความคิดนี้ออกมาให้เป็นก้อนอาคารลอยอยู่ด้านบนโรงจอดรถ ส่วนการตกแต่งภายในบ้านนั้น คุมโทนสีขาว - ดำเป็นหลัก เพื่อสะท้อนบุคลิกเท่ๆ ด้วยงานสไตล์โมเดิร์นอินดัสเทรียลอย่างงานเหล็กทาสีดำ ผสมผสานกับพื้นหินอ่อนแสนโรแมนติกสะท้อนบุคลิกอ่อนโยน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์สั่งทำพิเศษที่เขียนแบบขึ้นมาใหม่ให้มีรายละเอียดความหรูหราเล็กๆ ในแบบที่คุณเอกกี้ต้องการ
โถงบันไดออกแบบในลักษณะกึ่งเอ๊าต์ดอร์เพื่อยังคงให้บางส่วนของบ้านมีลมธรรมชาติเข้ามา ให้บรรยากาศเย็นสบายในวันที่อากาศแจ่มใส
นอกจากนั้นยังรื้อผนังภายในและแทนที่ผนังภายนอกอาคารทึบด้วยหน้าต่างกระจกใสเฟรมเหล็กลายตาราง สอดคล้องไปกับเส้นสายของกรงต้นมะกอกบนชั้น 2 ซึ่งแพตเทิร์นลายตารางเหล่านี้ยังช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติให้เข้ามา โดยเฉพาะเรือนกระจกบริเวณชั้น 1 ที่ทุบผนังภายนอกทิ้ง แล้วต่อเติมพื้นที่ให้กลายเป็นเรือนกระจกเต็มบริเวณไปจนเกือบสุดแนวรั้วบ้าน ซึ่งภายในประกอบด้วยมุมนั่งเล่น รับแขก รับประทานอาหารและมุมทำอาหารในลักษณะโอเพ่นแปลน เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานให้มีความต่อเนื่องกันนั่นเอง
ภายนอกห้องอเนกประสงค์เป็นฟาซาดหรือเปลือกอาคารที่มีลักษณะคล้ายกรงเหล็กสีดำ ภายในติดตั้งต้นมะกอกเซรามิกจำนวน 102 ต้น
ส่วนชั้น 2 สถาปนิกออกแบบให้เป็นห้องอเนกประสงค์ที่ซ่อนคอนเซ็ปต์เอาไว้ด้วยฟอร์มที่ดูแข็งแรงจากวัสดุ โครงสร้างสีสันที่ดูเรียบเท่แต่มีความอ่อนโยนซ่อนอยู่ โดยเลือกใช้ต้นมะกอกเซรามิกมาประดับตกแต่งสร้างบรรยากาศให้ดูเบาลงแทนต้นไม้จริง เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์เจ้าของบ้านที่ไม่มีเวลาดูแลรักษามากนัก นอกจากนั้นชั้นนี้ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ สำหรับคุณเอกกี้ โดยเฉพาะอย่างห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องนํ้าที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนด้วยการวางตำแหน่งห้องและการเลือกใช้วัสดุปูพื้นด้วยแพตเทิร์น ส่วนห้องนอนเลือกที่ใช้เฟอร์นิเจอร์และพื้นไม้เพื่อบรรยากาศผ่อนคลาย เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่สำหรับการนอนหลับอย่างแท้จริง
อีกห้องที่รวมความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านได้ชัดเจนคือ Walk-in Closet ขนาดใหญ่ ที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องลายวินเทจ และโดดเด่นด้วยโคมไฟขนาดใหญ่กลางห้อง
“ชีวิตปกติพี่เอกเขาอยู่กับสตูดิโอ อยู่กับสปอตไลท์เยอะแล้ว เวลากลับบ้านเราอยากให้เขารู้สึกเหมือนได้พัก กลับมาสู่ความเป็นบ้านที่มีแสงธรรมชาติ มีต้นไม้ใบหญ้า มีบ่อปลา มีสเปซให้พี่เขาออกมาเอ็นจอยได้ทั้งวัน” คุณบอย - พงศ์ภัทรเสริม
เชื่อมต่อฟังก์ชันแบบไม่มีสะดุดด้วยการวางตำแหน่งเคาน์เตอร์ครัวบริเวณเดียวกันกับพื้นที่รับประทานอาหาร
‘บ้าน’ ในความหมายของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มั่นใจได้เลยนั้นคือ บ้านเป็นสเปซที่ถูกออกแบบเพื่อโอบล้อมตัวตนของเจ้าของบ้านเอาไว้ ไม่เกี่ยวกับความใหม่หรือเก่าไม่เกี่ยวกับราคาถูกหรือแพง แต่เป็นเรื่องของความสุขที่มีแค่สเปซที่พิเศษอย่างบ้านเท่านั้นที่จะให้ได้